logo

About Us

Getting to know GenEd Chula

Getting to know GenEd Chula Chulalongkorn University

ความเป็นมาและความสำคัญของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

การจัดการศึกษาหมวดวิชาศึกษาทั่วไปในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย อยู่ภายใต้กำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565 กำหนดให้หลักสูตรในระดับปริญญาตรีทุกหลักสูตร ต้องมีองค์ประกอบของกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป อย่างน้อย 24 หน่วยกิต ในทุกหลักสูตร โดยระบุไว้ว่าหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง

หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ให้พร้อมสำหรับโลกในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน เป็นผู้ตระหนักรู้ถึงการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา เป็นผู้ที่สามารถสร้างโอกาสและคุณค่าให้ตนเองและสังคม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลก เป็นบุคคลที่ดำรงตนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีจริยธรรมและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง รู้คุณค่าและรักษ์ชาติกำเนิด ร่วมมือรวมพลัง เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคม

สถาบันอุดมศึกษาอาจจัดวิชาศึกษาทั่วไปในลักษณะจำแนกเป็นรายวิชาหรือลักษณะบูรณาการใด ๆ ก็ได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป และต้องแสดงการวัดและประเมินผลที่สะท้อนการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนที่สอดคล้อง กับปรัชญาและวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปได้อย่างชัดเจน

ความมุ่งหมายของวิชาการศึกษาทั่วไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีปณิธานในการผลิตบัณฑิตเป็นเลิศ นั่นคือ มีความรู้ลึก รู้รอบ และกอปรด้วยคุณธรรม โครงการการศึกษาทั่วไปในฐานะผู้รับผิดชอบในการสร้างบัณฑิตเพื่อความรู้รอบและกอปรด้วยคุณธรรม จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้ที่

  • มีความรู้กว้างในวิชาพื้นฐานหลายสาขาวิชา และสามารถนำความรู้มาประมวลเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนร่วม
  • มีบุคลิกภาพดี มีคุณธรรม และจิตใจดี ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • รู้ลักษณะของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เข้าใจปัญหาและการเมืองที่สำคัญเพื่อที่จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
  • มองเห็นความสัมพันธ์ของปัญหาต่าง ๆ สามารถปรับตัว และแก้ปัญหาได้ด้วยวิถีทางปัญญา
  • รู้จักคิดวิเคราะห์และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม

โดยหวังว่าความรู้ความสามารถและลักษณะนิสัยต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อนำมาประกอบกับความรู้ลึกในวิชาชีพแล้วจะช่วยให้นิสิตได้เป็น “บัณฑิต” อย่างแท้จริง

โครงสร้างหน่วยกิตหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดให้นิสิตทุกคนต้องเรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไปอย่างน้อย 30 หน่วยกิต จึงจะถือว่าเรียนครบหลักสูตรปริญญาตรีตามที่โครงสร้างหลักสูตรกำหนด ข้อกำหนดการเรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.

รายวิชาศึกษาทั่วไป จำนวน 12 หน่วยกิต จัดแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่
หมวดมนุษยศาสตร์, หมวดวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์, หมวดสังคมศาสตร์ และหมวดสหศาสตร์ (หมวดละ 3 หน่วยกิต)

2.

รายวิชาภาษาต่างประเทศจัดสอนโดยสถาบันภาษา จำนวน 12 หน่วยกิต จำนวน 12 หน่วยกิต

3.

รายวิชาศึกษาทั่วไปกลุ่มพิเศษ จำนวน 6 หน่วยกิต

การเปลี่ยนแปลงรายวิชาศึกษาทั่วไป จำนวน 12 หน่วยกิตตั้งแต่ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2566

ในปีงบประมาณ 2566 ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2566 ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาศึกษาทั่วไป (Reforming CU General Education)ด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาศึกษาทั่วไป (Reforming CU General Education) โดยมีประเด็นเชิงนโยบาย 6 ประเด็น คือประเด็นที่ 1 การปรับเปลี่ยนการจัดกลุ่มรายวิชาศึกษาทั่วไป และนโยบายที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่ 2 การปรับเปลี่ยนการประเมินผลการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป เป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่เกรด ประเด็นที่ 3 บทบาทของศูนย์การศึกษาทั่วไปในด้าน Regulation และ Lifelong Learning ประเด็นที่ 4 กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ประเด็นที่ 5 การปรับชื่อศูนย์การศึกษาทั่วไป และประเด็นที่ 6 การปรับนิยามของหมวดศึกษาทั่วไป

ในขั้นตอนการดำเนินการศูนย์การศึกษาทั่วไปได้รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นจาก 4 ส่วน คือ นิสิต อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่ปรึกษา เครือข่ายนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาทั่วไป และวิเคราะห์ข้อมูลการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปจากมหาวิทยาลัยอื่น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ สรุปข้อมูลทั้ง 4 ส่วน และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์การศึกษาทั่วไป และรวบรวมข้อมูลส่งสำนักบริหารวิชาการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งหมด 4 ชุด ดังนี้ (1) คณะกรรมการวิชาการ วันที่ 13 กันยายน 2565 (2) ที่ประชุมเครือข่ายรองคณบดีฝ่ายวิชาการ/บัณฑิตศึกษา และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วันที่ 20 กันยายน 2565 (3) ที่ประชุมคณบดี วันที่ 26 ตุลาคม 2565 (4) คณะกรรมการนโยบายวิชาการ จุฬา ฯ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

คณะกรรมการนโยบายวิชาการ ในการประชุมครั้งที่ 11/2565 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติให้นโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป สำหรับการดำเนินการตามนโยบายในระยะแรกจะมี 3 เรื่อง คือ

  • การยกเลิกการบังคับเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป 4 หมวด หมวดละ 1 รายวิชา มีผลกระทบกับนิสิตรหัส 66 เป็นต้นไป นิสิตยังคงต้องลงทะเบียนเรียนวิชาศึกษาทั่วไป ให้ครบ 12 หน่วยกิต แต่สามารถเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาศึกษาทั่วไปในหมวดใดก็ได้ ตามความสนใจของนิสิต (ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนแยกเป็น 4 หมวด [วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สหศาสตร์] หมวดละ 1 รายวิชา)
  • การลงทะเบียนเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปรหัสของคณะตนเอง มีผลกระทบกับนิสิตรหัส 66 และนิสิตก่อนรหัส 66 (รหัส 65, 64, …) นิสิตสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาศึกษาทั่วไปที่เป็นรหัสของคณะตนเองได้เพื่อให้มีอิสระมากขึ้นในการเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางคณะของนิสิตกำหนด และผ่านการหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว
  • การปรับการประเมินผล (ตัดเกรด) รายวิชาศึกษาทั่วไปเป็น S/U ทุกรายวิชา มีผลกระทบกับนิสิตรหัส 66 เป็นต้นไป นิสิตลงทะเบียนเรียนวิชาศึกษาทั่วไปตามปกติ (เรียน ทำกิจกรรม สอบ ส่งงาน ฯลฯ ตามปกติ) แต่เกรดที่ได้รับจะเป็นระบบ S/U โดยอัตโนมัติ

โดยหวังว่าความรู้ความสามารถและลักษณะนิสัยต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อนำมาประกอบกับความรู้ลึกในวิชาชีพแล้วจะช่วยให้นิสิตได้เป็น “บัณฑิต” อย่างแท้จริง

GenEd SummerGenEd First Semester

รายงานประจำปีของศูนย์การศึกษาทั่วไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

logo

General Education Center Chulalongkorn University

6th Floor, Vidhayapattana Building, Phayathai Road, Wang Mai Subdistrict, Pathum Wan District, Bangkok 10330

0 2218 3914-20 and
0 2218 3822-28

gened@chula.ac.th

line-logo

@GenEd.Chula

@cu.gened

Request Submission System

CU VIP

Chula neuron

Privacy Policy

chula-logo